19 ธันวาคม 2567
แถลงการณ์เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN)
Neighbours in Need: เรียกร้องการคุ้มครองที่ครอบคลุมสำหรับผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมา
หลังจากเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของทหารในเมียนมา สองพี่น้อง เมย์และคิน เริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัย เมื่อทราบว่าภาพถ่ายของพวกเธอปรากฏอยู่ในสื่อเกี่ยวกับการประท้วงที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ธุรกิจรถจักรยานยนต์รับ-ส่งของพ่อก็ต้องหยุดชะงักจากเหตุรัฐประหาร ด้วยความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความลำบากในชีวิต ทั้งสองตัดสินใจละทิ้งครอบครัวและการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพื่อหาที่ลี้ภัยและทำงานในประเทศไทย ปัจจุบัน เมย์และคินทำงานในโรงงานแปรรูปปลาในจังหวัดสมุทรสาคร โดยทำงานวันละ 8-10 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน ทั้งสองมีเพื่อนร่วมงานอีกประมาณ 10,000 คนในโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจากเมียนมา
เส้นทางการเดินทางจากเมียนมาสู่ประเทศไทยของแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างกันตามประสบการณ์และแรงจูงใจที่หลากหลาย บางคนมาเพื่อแสวงหาที่หลบภัย หรือโอกาสการจ้างงาน เรื่องราวของพวกเขาสะท้อนถึงความท้าทายและความหวังที่หลากหลาย
เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาและนิทรรศการในหัวข้อ Neighbours in Need: การย้ายถิ่นจากเมียนมา
โดยกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงธรรมชาติของการย้ายถิ่นผสมจากเมียนมาหลังรัฐประหารในปี 2021 รวมถึงความท้าทายที่ผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาต้องเผชิญในประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกร้องการตอบสนองที่ครอบคลุมจากมุมมองด้านมนุษยธรรม MMN ได้ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการบังคับเกณฑ์ทหารในเมียนมา นโยบายการบังคับส่งเงินกลับประเทศ และการเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากกองทัพ ซึ่งสร้างความลำบากให้กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ในแง่ของวิกฤตการย้ายถิ่นจากเมียนมา ดร. ศิรดา เขมานิฏฐาไท จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึงสาเหตุของการย้ายถิ่นผสมและหลากหลาย เช่น การปราบปรามทางการเมือง ความขัดแย้งติดอาวุธ วิกฤตด้านเศรษฐกิจและมนุษยธรรม การบังคับเกณฑ์ทหาร และวิกฤตการณ์ด้านการศึกษา
นายบราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิแมพ กล่าวถึงสถานะที่เปราะบางของแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม โดยแรงงานเหล่านี้กังวลว่าจะไม่สามารถจ่ายภาษีที่สถานกงสุลเมียนมาเรียกเก็บเมื่อทำการต่ออายุเอกสารได้ ซึ่งอาจบีบให้พวกเขาจำใจต้องตกอยู่ในสถานะผิดกฎหมาย
นางสาวอีฟ จากสมาคมแรงงานยองจีอู กล่าวถึงความท้าทายของแรงงานข้ามชาติในแม่สอดว่า นายจ้างหลายคนฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ความสิ้นหวังของแรงงานจากเมียนมา โดยในบางโรงงาน นายจ้างปรับค่าแรงรายวันเหลือเพียง 150 บาท เพราะรู้ว่ามีแรงงานมาใหม่จำนวนมากที่กำลังมองหางานทำ นอกจากนี้นายจ้างมักข่มขู่แรงงานว่าหากไม่พอใจกับค่าจ้างที่ให้ ก็สามารถลาออกได้ “ในขณะที่เราทำงานหนักขึ้น แต่เรากลับยากจนลงไปทุกที” นางสาวอีฟกล่าว
นางวาคูชี จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ เปิดเผยว่า การโจมตีทางอากาศของกองทัพและการมุ่งเป้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนโดยเจตนา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงกว่า 1 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน องค์กรชุมชนจำนวนเจ็ดแห่งในอำเภอแม่สะเรียง ได้ร่วมมือกันจัดตั้งทีมช่วยเหลือฉุกเฉินชายแดน และอีกสิบเอ็ดองค์กรชุมชนในอำเภอแม่สอด ได้จัดตั้งทีมตอบสนองฉุกเฉินชาวกะเหรี่ยง เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
จายกอแและไหม ซึ่งกำลังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายสำหรับสถานะผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรและการขอมีสัญชาติไทย ได้เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศไทยในฐานะบุคคลไร้สัญชาติว่า หลังจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ทั้งสองมีความหวังว่าการขออนุมัติของพวกเขาจะได้รับการพิจารณา แต่พบว่าความคืบหน้ายังคงล่าช้า จายกอแและไหมเล่าต่อว่าพวกเขาเติบโตและได้รับการศึกษาในประเทศไทย ใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว และมองว่าประเทศไทยคือบ้านที่แท้จริงของพวกเขา
การเสวนาเน้นย้ำถึงสถานการณ์เร่งด่วนของผู้ย้ายถิ่นทุกคนจากเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานในฐานะแรงงานข้ามชาติหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP camps) โดยผู้ร่วมอภิปรายต่างให้ความสำคัญกับการให้การคุ้มครองอย่างรอบด้านจากประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัย การเข้าถึงเอกสารประจำตัว บริการสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงการจ้างงานที่ยุติธรรม
สุดท้ายนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) หวังว่าจะเห็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาอย่างยั่งยืน
ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ : นิทรรศการเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติ จัดแสดงถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ณ ชั้นล่างของอาคารคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกี่ยวกับเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN)
เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Migration Network (MMN) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 เป็นเครือข่ายระดับอนุภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันวิจัยที่ทำงานเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้ย้ายถิ่นและครอบครัวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การดำเนินงานร่วมกันของ MMN ได้แก่ การวิจัยแบบมีส่วนร่วม การรณรงค์ให้ความรู้ การเสริมสร้างศักยภาพ และการสร้างเครือข่าย MMN มีองค์กรสมาชิกที่ดำเนินงานทั้งในประเทศต้นทางและปลายทางของการย้ายถิ่น โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติในระดับรากหญ้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MMN สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MMN ได้ที่: www.mekongmigration.org
ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
- เรโกะ ฮาริมะ, ผู้ประสานงานเครือข่าย (ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น อีเมล: reiko@mekongmigration.org
- อาทิตย์ แผ่บุญ, ผู้ประสานงานฝ่ายงานรณรงค์และให้ความรู้ (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อีเมล : artid@mekongmigration.org หรือโทร +66 (0)53283259
- บรัง ออง จา, เจ้าหน้าที่สื่อสารและรณรงค์ (ภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมา) อีเมล: brangaungja@mekongmigration.org หรือโทร +66 (0)53283259