แถลงการณ์เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

แถลงการณ์เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล

ต่อการย้ายถิ่นแบบผสมผสานหลังรัฐประหารในประเทศเมียนมา

18 ธันวาคม 2566

เนื่องในโอกาสวันผู้ย้ายถิ่นสากล เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางมาจากเมียนมาหลังรัฐประหาร ในฐานะเครือข่ายขององค์กรประชาสังคมที่ทำงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิของผู้ย้ายถิ่น เราเรียกร้องให้มีการตอบสนองเชิงนโยบายที่ครอบคลุมต่อสถานการณ์การย้ายถิ่นแบบผสมผสานอันมีความซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

ความรุนแรงหลังรัฐประหาร การล่มสลายทางเศรษฐกิจ และหายนะด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพข้ามพรมแดนเพื่อแสวงหาความปลอดภัย ความอยู่รอด และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ในเดือนตุลาคม        พ.ศ. 2566 มีรายงานว่า ผู้คนราว ๆ 1 ใน 5 ของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยทั้งหมดในจังหวัดชายแดนอพยพเป็นคนที่เดินทางเข้ามาหลังมีการรัฐประหารในปี 2564[1] ในเดือนสิงหาคม 2566 ที่มาผ่าน MMN ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง Neighbours in Need ซึ่งเป็นการตรวจสอบการตอบสนองของประเทศไทยต่อการย้ายถิ่นแบบผสมผสานจากเมียนมา ในรายงานระบุว่าชะตากรรมของผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่แน่นอนมากขึ้น ความขัดแย้งและการใช้อาวุธตอบโต้กันภายในประเทศได้ทำลายล้างเศรษฐกิจไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งแทบไม่มีความเป็นไปได้ที่ผู้อพยพจะสามารถเดินทางกลับเมียนมาในเร็ววันนี้

เพื่อแก้ไขวิกฤตการย้ายถิ่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตอบสนองเชิงนโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุม ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เร่งด่วนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชนผู้ย้ายถิ่นตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา รวมถึงพื้นที่ที่เรียกว่า “พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว” ซึ่งควรได้รับการจัดการเพื่อนำไปสู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืนในประเทศไทย นอกจากนี้การปรับปรุงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริจาคระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายการย้ายถิ่น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรับรองว่าความช่วยเหลือต่างๆจะถูกส่งไปถึงผู้ย้ายถิ่นอย่างแท้จริง

โดยทั่วไปแล้ว การปฏิรูปนโยบายการย้ายถิ่นฐานที่อำนวยความสะดวกในการจัดทำเอกสารให้ผู้ย้ายถิ่นรายใหม่ทั้งหมดถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แม้ว่าประเทศไทยจะยืดหยุ่นแก่ผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ในประเทศอยู่แล้ว แต่ผู้ย้ายถิ่นรายใหม่จากเมียนมาเองก็ประสบปัญหาเรื่องสถานะทางกฎหมายเช่นกัน หากไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง ผู้ย้ายถิ่นอาจเผชิญกับความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง และถูกส่งตัวกลับประเทศ นอกจากนี้พวกเขายังเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ในที่ทำงาน  เผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้ในสังคมไทย

ข้อเสนอแนะ

เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นฐานสากล ประจำปี 2566 นี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองเชิงนโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุม:

  1. ระงับการกักขังและบังคับส่งกลับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยจากเมียนมาทุกคน ไม่ว่าจะเพื่อทำงานหรือลี้ภัย การเดินทางกลับทุกกรณีต้องปราศจากการบังคับและต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ผู้ที่เดินทางกลับไปยังเมียนมาอีกครั้งเพื่อประเมินสถานการณ์ ไม่ควรถูกลงโทษหากกลับเข้ามาในประเทศไทยในภายหลัง
  2. จัดเตรียมที่พักพิง อาหาร และสิ่งจำเป็นอย่างเพียงพอทันที ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากกองทัพเมียนมา        และองค์กรต่างๆสามารถเข้าถึงเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาได้
  3. ดำเนินการสัมภาษณ์ประเมินความต้องการ โดยสมัครใจกับผู้ย้ายถิ่นชาวเมียนมาที่อาจต้องการความคุ้มครองพิเศษ ทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้อพยพจากสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งสามารถทำได้โดยการประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
  4. จัดทำเอกสารเพื่อให้ผู้ย้ายถิ่นสามารถอยู่อาศัย เข้าถึงการจ้างงาน การรักษาพยาบาล การศึกษา และสามารถเดินทางภายในประเทศไทยได้
  5. อำนวยความสะดวกให้กับชาวเมียนมาในการย้ายถิ่นไปยังประเทศที่สาม โดยการประสานงานกับหน่วยงานระหว่างประเทศและสถานฑูต

สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับความพยายามทางการฑูตและทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ และประชาคมระหว่างประเทศในวงกว้าง เพื่อบรรเทาวิกฤติการย้ายถิ่นฐานแบบผสมผสานนี้ที่ต้นตอของปัญหาด้วยการช่วยฟื้นฟูการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในประเทศเมียนมา

[1]  Figures cited in IOM, “Mobility Tracking Myanmar Migrants”, October 2023, accessible at https://reliefweb.int/report/thailand/iom-mobility-tracking-myanmar-migrants-october-2023.