The Isaander: เปิดผลวิจัย : แรงงานเขมร และพม่าในไทย เกือบ 90 % (ของการศึกษา) ต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมง แต่รายได้ต่อเดือนไม่ถึงหมื่น และส่วนมากไม่มีประกันสุขภาพ

เปิดผลวิจัย : แรงงานเขมร และพม่าในไทย เกือบ 90 % (ของการศึกษา) ต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมง แต่รายได้ต่อเดือนไม่ถึงหมื่น และส่วนมากไม่มีประกันสุขภาพ
“แรงงานข้ามชาติมีความฝัน อยากมีบ้านดีๆ ครอบครัวที่อบอุ่น มีที่ดินของตัวเองในการทำงาน แต่สภาพจริงต้องอยู่อย่างแออัดและยากจน เลยตัดสินใจมาทำงานในประเทศไทย เพื่อจะมีเงินส่งกลับพม่าบ้านเกิด แต่พอมาทำงานในบ้านเรา พบสภาพแรงงานที่ย่ำแย่ ทำงานเหนื่อยค่าแรงน้อย รายได้ไม่พอ ส่งเงินกลับบ้านไม่ได้ ลูกไม่สามารถเรียนหนังสือดีๆได้ ไม่มีสถานะทะเบียนที่ถูกต้อง ด้านการทำงาน ลูกจ้างต้องทำงานหนักทุกวัน ไม่มีสวัสดิการ ความปลอดภัยไม่มี”
นายสุทธิศักดิ์ รุ่งเรืองผาสุก ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าว
ในวันพฤหัสบดีนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Mekong Migration Network-MMN) และองค์กรพันธมิตร เปิดเผยรายงานการศึกษาสภาพชีวิตและการทำงานของแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย พบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง และยังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ด้านตัวแทนกระทรวงแรงงานแนะให้ แรงงานประสานสถานทูตเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา
เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Mekong Migration Network-MMN) จัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย(FCCT) โดยเปิดเผยผลการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 – กรกฎาคม 2562 โดยใช้แบบสำรวจ 328 ชุดกับแรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชา ที่ทำงานในไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพาราในจังหวัดตาก ระยอง สุราษฎรธานี และพังงา ทั้งยังเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ แรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาสังคม บริษัทจัดหางาน นายจ้าง รวมถึงอดีตแรงงานข้ามชาติในที่ย้ายกลับประเทศแล้ว โดยพบ ข้อมูลหลายส่วนที่ชี้ว่าแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย ยังมีสภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่ยากลำบาก
โดยข้อค้นพบของการศึกษา ระบุว่า มากกว่าครึ่งของแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมที่ถูกสำรวจไม่ได้รับการจดทำเบียน โดยระบุว่า ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสูงเกินกว่าจะจ่ายไหวหากเทียบกับค่าแรงของแรงงานข้ามชาติ แรงงานสวนยางพารา 87 เปอร์เซ็นต์ ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน 40 เปอร์เซ็นต์ ทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน
66 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานสวนยางพารา ได้รายได้มากกว่า 9 พันบาทต่อเดือน แต่ต้องทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ 46 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานในไร่ข้าวโพดได้รายได้น้อยกว่า 4,500 บาทต่อเดือน 10 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้รับค่าจ้างที่นายจ้างค้าง และ 8 เปอร์เซ็นต์ถูกนายจ้างยึดเอกสาร หรือถูกห้ามออกจากพื้นที่ทำงาน
ยังพบอีกว่า สำหรับแรงงานที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เช่น รองเท้าบูทยาง หมวกนิรภัย ถุงมือยาง หน้ากาก แว่นครอบตา 82 เปอร์เซ็นต์ ต้องซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวด้วยเงินของตัวเอง และแรงงานจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์​ที่เหมาะสม 28 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพใดๆ เช่น ประกันสุขภาพ หรือประกันสังคม รวมทั้ง บุตรของแรงงานข้ามชาติน้อยกว่าครึ่งไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียน
นายวิน ซอ อู แรงงานชาวเมียนมา ซึ่งทำงานอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า แรงงานส่วนมากมีรายได้เฉลี่ยวันละ 100-150 บาท เท่านั้น
“แรงงานที่ทำงานในไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ได้ค่าแรงต่ำมาก ได้วันละ 100-150 บาท ถ้าจะได้ 200 บาท ต้องขับรถบรรทุกเป็น คนที่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานแทบจะไม่มี ที่วิจัยศึกษามาว่าได้ค่าแรงเดือนละ 9 พันบาท ขึ้นอยู่กับแต่ละคน คนที่ได้เยอะ ต้องทำงานวันนึงเป็นสิบๆ ชั่วโมง ถ้าเทียบค่าแรงกับแรงงานไทยก็ไม่เท่ากัน ไม่เข้าใจว่าทำไมได้เงินน้อยมาก อยากให้รัฐบาลช่วยคุยกับนายจ้างให้ด้วย” นายวิน กล่าว
ด้าน นางสาวไว เพียว เจ้าหน้าปฏิบัติงานด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก มูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนา (Foundation for Education and Development) สาขาพังงา ระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดพังงามีความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง
“แรงงานที่ทำงานในสวนยาง หรือสวนปาล์ม ที่อยู่ไกลเมือง อันตราย เดินทางไปไหนยากมาก คนพื้นที่ก็มาข่มขู่เอาเงิน กันโชก ไม่มีการดูแล หรือประกันสังคมใดๆ ไปโรงพยาบาลลำบากมาก ได้แค่ไปคลีนิก หรือศูนย์อนามัยใกล้ๆ นายจ้างไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวให้ อยากได้ต้องหาเอาเอง ถึงซื้อเองก็ไม่รู้จะใช้ยังไง บางคนใช้อุปกรณ์ป้องกันผิดประเภท คนที่ทำงานตอนกลางคืน เจอปัญหาเรื่องงู หรือสัตว์มีพิษ” นางสาวไว กล่าว
“การทำเอกสารต้องทำผ่านนายหน้า ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เงินไม่พอก็ต้องยืม หรือกู้จากนายจ้าง เพื่อส่งไปให้พ่อแม่ และลูกที่รออยู่ที่ต่างประเทศ กลายเป็นหนี้ซ้ำซ้อน การทำงานมีหัวหน้างานคุม ซึ่งนายจ้างมักจะเชื่อหัวหน้างานมากกว่าแรงงาน ทำให้บางคนถูกนายหน้ากลั่นแกล้ง บางคนถูกชะลอเรื่องเอกสาร เมื่อเอกสารการทำงานหมดอายุก็โดนจับ” นางสาวไว กล่าวเพิ่มเติม
ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นางพัฒนา พันธุฟัก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอยู่เช่นกัน โดยมีการพยายามปรับปรุงกฎหมาย และมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจแรงงาน ซึ่งถ้าหากพบการกระทำผิดก็จะได้มีการลงโทษนายจ้าง แต่ขณะเดียวกันก็แนะนำให้แรงงานข้ามชาติที่พบปัญหาใช้ช่องทางสถานทูตในการร้องเรียน
“เรามีกลไกในการที่จะดูแลนอกจากการบังคับใช้กฎหมายผ่านพนักงานตรวจแรงงาน อันแรกกรมการจัดหางานจะมีเว็บไซต์ doehelpme ไม่ต้องระบุตัวตน มีสายด่วน 1506 กด 2 มีล่ามเมียนมา กัมพูชา อังกฤษ ศูนย์แรกรับ ศูษย์ประสานงานแรงงานประมง… ประเทศต้นทางจะต้องดูแลคนชาติของท่าน อีกช่องทางนึงที่อยากให้เพิ่มบทบาท คือ ทูตแรงงาน น่าจะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของแรงงานข้ามชาติทุกประเทศที่มาทำงานในประเทศไทย เพราะเราจะไม่ได้ทราบปัญหาลงไปลึก” นางพัฒนา กล่าว
“กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการตรวจแรงงาน ภาคเกษตรเราจะมีการลงตรวจ ตรวจกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะมีการตรวจความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ว่ามีเครื่องป้องกันให้ลูกจ้างหรือไม่ จะให้ความรู้กับนายจ้างเรื่องการใช้สารเคมี หากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะต้องมีการดำเนินการยื่นฟ้อง… กฎหมายที่ออกในประเทศไทยเราใช้เทียบเท่ากัน แรงงานข้ามชาติต้องพยายามขึ้นทะเบียน ไม่งั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย” นางพัฒนา กล่าว
นางพัฒนาระบุว่า จากข้อมูลการตรวจแรงงานภาคเกษตรกรรม ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึง มกราคม 2563(ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563) มีพนักงานลงตรวจแรงงานทั้งสิ้น 451 แห่ง มีลูกจ้าง 4,567 คน พบว่า ถูกต้อง 443 แห่ง และไม่ถูกต้อง 8 แห่ง ในนั้นมีจำนวนลูกจ้าง 122 คน
โดยจากสถิติล่าสุดเดือนตุลาคม 2562 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรม ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยประเภททั่วไป และเอ็มโอยู 330,381 คน และแรงงานที่เข้ามาทำงานแบบไป-กลับ หรือแรงงานตามฤดูกาล 18,599 คน