Benar News: แรงงานข้ามชาติภาคเกษตรที่ถูกลืมเลือน สภาพการทำงานยังยากลำบาก : วิจัยระบุ

Link: https://www.benarnews.org/thai/news/TH-migrants-agricultural-01302020181300.html?fbclid=IwAR2uUCuArWUceNha-uoRH_OCSsk-umJXb6GnoyhshxTLF9T0FNjxD9b4ON8

ในวันพฤหัสบดีนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network-MMN) และองค์กรพันธมิตร เปิดเผยรายงานการศึกษาสภาพชีวิตและการทำงานของแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย พบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 9 ใน 10 คน ของกลุ่มตัวอย่างได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง และยังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และรายได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย (FCCT) ได้เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยสามปี เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน 2560-กรกฎาคม 2562 โดยใช้แบบสำรวจ 328 ชุด กับแรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชา

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ มีเพื่อทำการศึกษาประเด็นผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ และการย้ายถิ่นเพื่อการทำงานภาคเกษตรของประเทศไทย ในพื้นที่ต่างๆ ที่ทำการผลิตพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ในจังหวัดตาก ระยอง สุราษฎรธานี และพังงา เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงสิทธิและความคุ้มครองแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรม

ทั้งยังเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ แรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาสังคม บริษัทจัดหางาน นายจ้าง รวมถึงอดีตแรงงานข้ามชาติในที่ย้ายกลับประเทศแล้ว โดยพบ ข้อมูลหลายส่วนที่ชี้ว่า แรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย ยังมีสภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่ยากลำบาก

นายสุทธิศักดิ์ รุ่งเรืองผาสุก ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไม่มีสถานะทะเบียนที่ถูกต้อง มีสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ลำบาก

“แรงงานข้ามชาติมีความฝัน อยากมีบ้านดีๆ ครอบครัวที่อบอุ่น มีที่ดินของตัวเองในการทำงาน.. แต่พอมาทำงานในบ้านเรา พบสภาพแรงงานที่ย่ำแย่ ทำงานเหนื่อยค่าแรงน้อย รายได้ไม่พอ ส่งเงินกลับบ้านไม่ได้ ลูกไม่สามารถเรียนหนังสือดีๆได้ ไม่มีสถานะทะเบียนที่ถูกต้อง ด้านการทำงาน ลูกจ้างต้องทำงานหนักทุกวัน ไม่มีสวัสดิการ ความปลอดภัยไม่มี” นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

โดยข้อค้นพบของการศึกษา ระบุว่า มากกว่าครึ่งของแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรมที่ถูกสำรวจไม่ได้รับการจดทำเบียน โดยระบุว่า ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสูงเกินกว่าจะจ่ายไหว หากเทียบกับค่าแรงของแรงงานข้ามชาติ แรงงานสวนยางพารา 87 เปอร์เซ็นต์ ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน 40 เปอร์เซ็นต์ ทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน 66 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานสวนยางพารา ได้รายได้มากกว่า 9,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ 46 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานในไร่ข้าวโพดได้รายได้น้อยกว่า 4,500 บาทต่อเดือน 10 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้รับค่าจ้างที่นายจ้างค้าง และ 8 เปอร์เซ็นต์ถูกนายจ้างยึดเอกสาร หรือถูกห้ามออกจากพื้นที่ทำงาน

ยังพบอีกว่า สำหรับแรงงานที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เช่น รองเท้าบูทยาง หมวกนิรภัย ถุงมือยาง หน้ากาก แว่นครอบตา 82 เปอร์เซ็นต์ ต้องซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวด้วยเงินของตัวเอง และแรงงานจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์​ที่เหมาะสม

ค่าแรงต่อวัน ต่ำกว่าครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ

นายวิน ซอ อู แรงงานชาวเมียนมา ซึ่งทำงานอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า แรงงานส่วนมาก มีรายได้เฉลี่ยวันละ 100-150 บาท เท่านั้น

“แรงงานที่ทำงานในไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ได้ค่าแรงต่ำมาก ได้วันละ 100-150 บาท .. คนที่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานแทบจะไม่มี.. ถ้าเทียบค่าแรงกับแรงงานไทยก็ไม่เท่ากัน ไม่เข้าใจว่าทำไมได้เงินน้อยมาก อยากให้รัฐบาลช่วยคุยกับนายจ้างให้ด้วย” นายวิน กล่าว

ด้าน นางสาวไว เพียว เจ้าหน้าปฏิบัติงานด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก มูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนา (Foundation for Education and Development) สาขาพังงา ระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดพังงามีความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง

“แรงงานที่ทำงานในสวนยาง หรือสวนปาล์ม ที่อยู่ไกลเมือง อันตราย เดินทางไปไหนยากมาก คนพื้นที่ก็มาข่มขู่เอาเงิน กันโชก ไม่มีการดูแล หรือประกันสังคมใดๆ ไปโรงพยาบาลลำบากมาก .. นายจ้างไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวให้ อยากได้ต้องหาเอาเอง ถึงซื้อเองก็ไม่รู้จะใช้ยังไง” นางสาวไว กล่าว

“การทำเอกสารต้องทำผ่านนายหน้า ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เงินไม่พอก็ต้องยืม หรือกู้จากนายจ้าง เพื่อส่งไปให้พ่อแม่ และลูกที่รออยู่ที่ต่างประเทศ กลายเป็นหนี้ซ้ำซ้อน” นางสาวไว กล่าวเพิ่มเติม

กระทรวงแรงงานแจง รัฐมีกฎหมายอื่นคุ้มครองแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ลงทะเบียน

นางพัฒนา พันธุฟัก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม ไม่สามารถจัดรวมในกระบวนการจ้างงาน ให้ใบอนุญาตทำงานได้เหมือนกรณีแรงงานที่ทำงานในธุรกิจระยะยาว เพราะเขาเหล่านั้นเข้ามาที่มาทำงานในระยะสั้น หรือตามฤดูกาล โดยประเทศติดกับไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานไม่เกินสามเดือน นายจ้างต้องทำตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 10 มิถุนายน 2558 เรื่องการบังคับใช้มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องทำประกันสุขภาพเพื่อให้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอยู่เช่นกัน โดยมีการพยายามปรับปรุงกฎหมาย และมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจแรงงาน ซึ่งถ้าหากพบการกระทำผิดก็จะได้มีการลงโทษนายจ้าง

“เรามีกลไกในการที่จะดูแลนอกจากการบังคับใช้กฎหมายผ่านพนักงานตรวจแรงงาน อันแรกกรมการจัดหางานจะมีเว็บไซต์ doehelpme ไม่ต้องระบุตัวตน มีสายด่วน 1506 กด 2 มีล่ามเมียนมา กัมพูชา อังกฤษ ศูนย์แรกรับ ศูนย์ประสานงานแรงงานประมง… ประเทศต้นทางจะต้องดูแลคนชาติของท่าน”

“อีกช่องทางนึงที่อยากให้เพิ่มบทบาท คือ ทูตแรงงาน น่าจะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของแรงงานข้ามชาติทุกประเทศ ที่มาทำงานในประเทศไทย” นางพัฒนา กล่าว

“กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการตรวจแรงงาน ภาคเกษตรเราจะมีการลงตรวจ ตรวจกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะมีการตรวจความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ว่ามีเครื่องป้องกันให้ลูกจ้างหรือไม่ จะให้ความรู้กับนายจ้างเรื่องการใช้สารเคมี หากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะต้องมีการดำเนินการยื่นฟ้อง… กฎหมายที่ออกในประเทศไทยเราใช้เทียบเท่ากัน แรงงานข้ามชาติต้องพยายามขึ้นทะเบียน ไม่งั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย”

นางพัฒนาระบุว่า จากข้อมูลการตรวจแรงงานภาคเกษตรกรรม ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึง มกราคม 2563 (ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563) มีพนักงานลงตรวจแรงงานทั้งสิ้น 451 แห่ง มีลูกจ้าง 4,567 คน พบว่า ถูกต้อง 443 แห่ง และไม่ถูกต้อง 8 แห่ง ในนั้นมีจำนวนลูกจ้าง 122 คน

โดยจากสถิติล่าสุดเดือนตุลาคม 2562 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรม ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยประเภททั่วไป และเอ็มโอยูระหว่างไทยและเมียนมา ลาว กัมพูชา เมื่อปี 2558-59 รวม 330,381 คน และแรงงานที่เข้ามาทำงานแบบไป-กลับ หรือแรงงานตามฤดูกาล 18,599 คน เชื่อว่ามีคนงานที่ไม่มีเอกสารถูกต้องอีกหลายหมื่นราย

ข้อเสนอแนะ

 

งานวิจัยชิ้นนี้รวบรวมข้อเสนอแนะให้รัฐบาลทำขั้นตอนการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองให้ง่ายขึ้น สำหรับแรงงาน ปรับปรุงสภาพการทำงาน โดยใช้นโยบายที่มีอยู่ การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยผ่านการเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจแรงงาน ตรวจสอบที่อยู่อาศัยและปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

ข้อเสนอแนะสำหรับนายจ้าง คือ สนับสนุนให้แรงงานมีสถานะทะเบียนการเข้าเมืองที่ถูกต้อง มีมาตรฐานการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย การให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับอันตรายในสถานที่ทำงาน และการฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย

และยังเรียกร้องให้องค์กรพัฒนาเอกชน เพิ่มการเข้าถึง สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และเรียกร้องให้ลดหรือห้ามการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแรงงาน