ค้าประเวณีไม่ใช่อาชญากรรม พรรคการเมืองผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครอง Sex Worker

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์และตัวแทนพนักงานบริการทั่วประเทศ จัดเวทีพบนักการเมือง “คืนงาน คืนคน เปลี่ยนส่วนเป็นภาษี ธุรกิจดีไม่สีเทา” โดยมี ตัวแทนพรรคการเมือง เขามาร่วมรับฟัง ความคิดเห็นของพนักงานบริการหลากหลายพรรค ที่โรงแรม เดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯช่วงแรกได้มีการเปิดเวทีให้พนักงานบริการทั่วประเทศสะท้อนปัญหาที่พบเจอ และ ช่วงท้ายมีการเปิดให้พรรคการเมืองออกมากล่าวถึงตัว พ.ร.บ. นี้

จี้ยกเลิกกฎหมายพ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณีฉบับเก่า

โดย ไหม จันตา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาเวอร์ ได้สะท้อนความเห็นในเวทีประชุมว่า กฎหมาย พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ถูกใช้มากว่า 20 ปี มีความจำเป็นต้องรื้อทบทวนปรับปรุงแก้ไข ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้มีการระดมความคิดเห็น จนได้กฎหมายใหม่นี้ขึ้นมา ซึ่งมีพนักงานบริการเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จนได้เป็น กฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะเน้นการขึ้นจดทะเบียน ในลักษณะของสถานประกอบการเป็นหลักเบื้องต้นกำหนดให้ผู้ที่จะซื้อบริการอายุต้อง 20 ปีขึ้นไป ขณะที่คนขายบริการอายุต้อง  18-20 ปีขึ้นไป และต้องตรวจสุขภาพทุก 3 เดือน รวมทั้งจัดให้มีการทำประกันสังคมด้วย  หวังว่า กฎหมายฉบับนี้ บรรดานักการเมือง จะรับฟัง และผลักดันออกเป็นกฎหมายได้

สุดช้ำ! ถูกตีตราทำผิด กม. ทั้งที่อาชีพสุจริต

ขณะที่ผึ้ง ตัวแทนพนักงาน บริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้สะท้อนปัญหาให้กับพรรคการเมืองฟังว่า ตนเชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนต่างต้องทำงานเพื่อปากท้องเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่อาชีพพนักงานบริการที่พวกเราทำอยู่เป็นงานที่ไม่ถูกกฎหมายและไม่ถูกยอมรับว่าเป็นงาน เรามักถูกเจ้าหน้าที่รัฐล่อซื้อและรีดไถเก็บส่วย เมื่อเราเจอปัญหาถูกลักขโมยสิ่งของก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพราะเมื่อเราไปแจ้งความเราต้องกลับกลายเป็นคนผิดเพราะการทำงานของเรา และทำให้เราติดประวัติอาชญากรรมไม่สามารถไปสมัครงานหรือเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้  ทำให้เราไม่สามารถทำวีซ่าหรือกู้เงินสินเชื่อต่างๆได้ ประกันสังคมพวกเราก็ไม่มีเพราะอาชีพของเรายังไม่ถูกกฎหมาย

“พวกเราต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้มีร่าง พ.ร.บ. หลายฉบับ แต่กลับให้พวกเราจดทะเบียนและมีข้อแม้ว่าห้ามมีสามี และหากเรามีลูกก็ไม่สามารถทำงานได้ หรือบางฉบับมีลูกก็ต้องให้ลูกอายุ 20 ปีขึ้นไปถึงจะทำงาน และบางฉบับก็กำหนดให้ลูกค้าที่มาใช้บริกาเราผิดกฎหมาย  มันไม่ได้เป็นช่องทางที่แก้ปัญหาให้กับเราแต่เป็นปัญหาให้กับเรามากกว่า”ตัวแทนพนักงาน บริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวและว่า ตอนนี้มันมีร่างกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการให้พวกเราทำงานได้อย่างไม่ผิดกฎหมายซึ่งร่างกฎหมายนี้พวกเรามีส่วนร่วมมาโดยตลอดก็อยากให้ทุกพรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เรามีส่วนร่วมนี้

เผยทนทุกข์จนท.รีดส่วย – ลูกค้าเชิดค่าบริการ

ส่วนมะนาว ตัวแทนพนักงานบริการจากคลองหลอด กล่าวว่า ทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่มาจับพวกเราขึ้นรถกระบะจับแล้วปรับ ปรับแล้วจับทุกวัน ทั้งที่ลูกค้าก็ไม่มีพวกเราจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายให้กับตำรวจทุกวันอยากให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เราด้วย

ขณะที่ ตัวแทนพนักงานบริการจากเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนอยากแชร์ปัญหาของเชียงใหม่เพราะพวกเราเคยมีประสบการณ์ที่เจอลูกค้าเบี้ยวค่าใช้จ่ายและไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ โดยลูกค้าขู่ว่าเราทำงานผิดกฎหมาย ทำให้เราไม่กล้าไปแจ้งความ เขาเอาความผิดของเราไปกลบเกลื่อนความผิดของเขา จึงอยากให้มีการสนับสนุนกฎหมายใหม่ฉบับนี้

ด้านศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระ กล่าวว่า  เราอยากให้นักการเมืองกล้าที่จะต่อกรกับความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องกล้าที่จะต่อกรกับอำนาจมืด และเวลาที่นักการเมืองนำเสนออะไรออกมาแล้วต้องทำให้ได้ ถ้าพูดแล้วทำไม่ได้ไม่ต้องพูด

ต่อมาเวทีได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสดงความเห็น โดย แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคยินดีสนับสนุนผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต้องยอมรับว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ใช้อยู่มีความล้าหลัง ที่เห็นชัดสุดคือ ไม่มีการคุ้มครองสวัสดิการพนักงานบริการ ไม่เท่านั้นยังมีช่องโหว่ ให้เจ้าหน้าที่รัฐมาเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเรียกรับส่วย มีการจับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับอยู่อย่างนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ การขายบริการทางเพศต้องไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

อีกสิ่งที่สำคัญ ต้องผลักดัน คือการสร้างอาชีพเพิ่มทักษะ  ให้พนักงานบริการขายบริการสามารถยืนอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ เนื่องจากอาชีพนี้ จะมีการประกอบอาชีพไม่ยาวนาน มีความจำเป็นต้องพักฟื้นร่างกาย จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มทักษะอาชีพเช่น ขยับขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นต้น

ย้ำต้องทำให้ไม่มีความผิดและไม่บันทึกประวติความผิดอาญา

ขณะที่ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ทางพรรคยินดีและพร้อมที่จะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรง มีพนักงานจำนวนไม่น้อย ถูกหลอก บังคับ ให้ขายบริการเพื่อแลกหนี้  หนำซ้ำยังไม่มีสวัสดิการ สังคมยังรังเกียจอีก ไม่เท่านั้น ยังเจอเจ้าหน้าที่ขี้ฉ้อ มาจับมารีดรับส่วยอีก พวกเขาเหล่านี้ได้เพียงยอมจำนน ซึ่งถือว่าน่าสงสารมาก

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ทางพรรคอยากเห็นการป้องกันไม่ให้พนักงานขายบริการ เมื่อถูกจับ จะถูกบันทึกประวัติความผิดอาญา ตรงนี้ต้องไม่มีอีกต่อไป เพราะหากมีการบันทึกคงประวัติไว้ ก็จะส่งผลต่อ การไปประกอบอาชีพอื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง

ด้านวรนัยน์ วิณิชกะ พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริง หากเรานั่งเขียน พ.ร.บ.และวนไปมาแบบนี้ ทุกอย่างจะเป็นเหมือนเดิมเพราะวัฒนธรรมทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้ชายธรรมดาแต่เป็นไดโนเสาร์เพศชาย และตราบใดผู้บริการยังผิดกฎหมายอยู่ตราบนั้นรายได้ก็จะยังคงมีมหาศาล ไม่มีบ่อนไหนอาบอบนวดใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ในบ้านเรา ถ้าเรายังถูกปกครองโดยคนกลุ่มเดิมก็จะไม่มีกฎหมายอะไรปกป้องคุ้มครองเราได้ดังนั้นหากพรรคเราได้เสียงเกิน 250 เสียงในสภาสิ่งที่ทุกคนเรียกร้องจะเป็นความจริง

จี้นำ“โอนลีแฟนส์-เซ็กส์ทอย”ให้ถูกกม.

รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ทางพรรคเห็นด้วยที่ต้องยกเลิกกฎหมายฉบับเก่า เกี่ยวกับการค้าประเวณี เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการถ่ายคลิปทำเป็นโอนลี่แฟน ซึ่งนอกจากจะโดนโทษ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ยังโดนความผิดทางอาญาด้วย จึงอยากให้ คลิปทำเป็นโอนลี่แฟน นำขึ้นมาอย่างถูกกฎหมายด้วย รวมถึง เซ็กส์ทอยก็เช่นกัน ก็ขอให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เพราะถือเป็นอุปกรณ์บำบัด ไม่ใช่อุปกรณ์ก่อให้เกิดอาชญากรรม

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง  พรรคสามัญชน กล่าวว่า สิ่งที่พรรคสามัญชนทำคือเราจะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 เรื่องการเอาผิดผู้หญิงที่ทำงานบริการ ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องการค้าประเวณี ยกเลิกโดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายอื่นใดมาพ่วง เรื่องนี้เป็นสิงที่เราจะต้องพูดกันก่อน และเราจะต้องไปโฟกัสที่กฎหมายแรงงาน อย่าไปนำเรื่องการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวกับการทำงานบริการมันคนละส่วนกัน และที่สำคัญพรรคสามัญชนสามารถที่จะส่งผู้แทนได้แค่ 10  คนในปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคสามัญชนจะเป็นพนักงานบริการที่จะเข้ามาอยู่ในรายชื่อด้วย นอกจากนี้เรายังจะต้องมีการทำงานในเชิงเยียวยาด้วย โดยคณะรัฐมนตรีจะต้องทำข้อมูลถึงจำนวนของพนักงานบริการที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฉบับเก่า เราจะต้องยกเลิกความผิดทาอาญาและต้องทำงานยกเลิกเรื่องการตีตรา และส่งเสริมให้พนักงานบริการมีความปลอดภัยในชีวิต

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการในสภา ที่รับเรื่องนี้มา ทางพรรคยินดีผลักดันให้ถึงที่สุด แม้จะมีอุปสรรคก็ตาม เรายังยืนยันความคิดเดิมที่ว่า การค้าประเวณีไม่ใช่อาชญากรรม และจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีความล้าหลัง ซึ่งกฎหมายใหม่ จะคลอบคลุมทั้งเรื่องสวัสดิการพนักงานชายบริการ โดยเฉพาะ ประกันสังคม สถานบริการต้องมีความปลอดภัย ต้องมีการจัดโซนนิ่ง เพื่อจะได้ไม่รบกวนชาวบ้านชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ และขอย้ำว่า กรณีพนักงานขายบริการถูกเบี้ยวค่าตัว ไม่ต้องไป ร้องต่อศาลแพ่ง จนเสียค่าทนาย เรา สามารถใช้สิทธิศาลแรงงานในการไต่สวนได้เลย พ.ร.บ. ฉบับนี้แน่นอน และเห็นว่าอาชีพพนักงานบริการ มีคุณค่า และทุกคนมีสิทธิเลือกทำอาชีพนี้ และเห็นว่าอาชีพนี้ ควรมีสวัสดิการ เพราะเป็นงานที่ถูกกฎหมาย และหากเรานำแรงงานส่วนนี้มาสู่ในระบบได้ จะมีสัดส่วนจีดีพี ในแง่ของเศรษฐกิจถึง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในแง่วิธีการ เราเอาจนำรูปแบบจากต่างประเทศมาใช้ เช่น นิวซีแลนด์ อาจทำเป็น แซนด์บ็อกซ์ไปก่อน แล้วทำการจัดโซนนิ่ง อนุญาตให้พื้นที่ไหนทำได้ เราก็จะสามารถควบคุมความเสี่ยงหลายอย่างได้

ขณะที่ช่วงท้าย เวทีเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น โดย ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า กรณีทางพรรคมีตัวแทนเข้าสู่สภา ขอให้คำมั่นว่า เราจะช่วยยื่นกฎหมายนี้สู่สภาอย่างแน่นอน แม้เราจะไม่มีที่นั่งในสภา เราก็ยังเดินหน้าต่อ โดยผลักดันผ่านแพลทฟอร์มทางสังคม

ขณะที่พรรคพรรคสามัญชน โดยชุมาพร แต่งเกลี้ยง กล่าวว่า  กรณีจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาได้ทางพรรคมีการประเมิน มีทางเดียวที่เราต้องหยุดการทำรัฐประหาร แล้วอย่างน้อยปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ประมาณ  2 ครั้ง ถึงจะมีการเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้สู่สภา

ด้านชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า  ต้องขอขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่มาร่วมกันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ในครั้งนี้และได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมหากได้รับเลือกเข้าสภาและจุดที่น่าสนใจคือ เห็นการเปลี่ยนแปลง  พรรคประชาธิปัตย์ ในปี  2538  เป็นพรรคที่เสนอ  พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี  39  ถ้าในปี  2566  จะเสนอกฎหมายคุ้มครองครองผู้ทำงานบริการทางเพศอีกครั้ง  อีกทั้งปัจจุบันเห็นการเปลี่ยนแปลงที่หลายพรรคเปลี่ยนแนวคิดมองเห็นว่างานบริการทางเพศเป็นงาน  ไม่ควรต้องถูกจับ  เอาผิดเยี่ยงอาชญากร

“ดังนััน  เสียงของพนักงานบริการในการเลือกตั้งครั้งนี้  เพื่อให้ได้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะเข้าไปทำงานให้พนักงานบริการจริงๆ  ทำตามสัญญาจริงๆจึงเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของเราพนักงานบริการอีกครั้ง” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าว

แหล่งที่มา : https://www.lannernews.com/23032566-01/?fbclid=IwAR0zp8vEjMJ98IdGvUVgdThyOwWVQMaFfwa1c6biJO4M2z5VOrwkqzfwChM