เคาะเกณฑ์นำเข้าต่างด้าว “สุชาติ” ส่งซิกเปิดรับไม่อั้น

ศบค.เคาะนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU วางเกณฑ์ต้องผ่าน 8 ด่านให้นายจ้างยื่นคำขอ พร้อมหนังสือยืนยันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 9,700-26,720 บาท/หัว ชี้นายจ้างต้องการแรงงาน เมียนมา กัมพูชา ลาว ลอตแรก 4.2 แสนคน บริษัทนายหน้าตีปีก “สุชาติ” ส่งซิกเปิดนำเข้าไม่อั้น เอกชนวอนรัฐช่วยลดต้นทุน จี้แก้ปมแรงงานเถื่อนก่อนสหรัฐจัดอันดับ TIP Report กลางปี’65

วันที่ 12 พ.ย. 2564 การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ครั้งที่ 18/2564 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวเข้าราชอาณาจักร หรือแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้

กางตะแกรงแรงงานต่างด้าว

ขั้นตอนที่ 1 นายจ้างยื่นแบบคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ พร้อมหนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าสถานที่กักตัว ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว และหลักฐานอื่น ๆ ขั้นตอนที่ 2 การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่กรมการจัดหางาน ผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

ขั้นตอนที่ 3 การดำเนินการของประเทศต้นทางผ่านการทำสัญญาร่วมกัน ขั้นตอนที่ 4 นายจ้างยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพ 4 เดือน ขั้นตอนที่ 5 กรมการจัดหางานอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

ขั้นตอนที่ 6 ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจรับเอกสาร 5 รายการ คือ 1.หนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงานพร้อมบัญชีรายชื่อ 2.ผลตรวจ COVID-19 (วิธี RT-PCR) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา หรือผลรับรองการตรวจ ATK 3.หลักฐานการได้รับวัคซีน 4.ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 2 ปี 5.เดินทางไปยังสถานที่กักตัวโดยยานพาหนะที่แจ้งไว้

ขั้นตอนที่ 7 สถานที่กักตัว พร้อมตรวจโรค 6 โรค พร้อมกักตัว ฉีดวัคซีน และตรวจโดยวิธี RT-PCR และขั้นตอนที่ 8 การอบรมและรับใบอนุญาตเข้าทำงาน

“สุชาติ” การันตีไม่เสี่ยงโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบแรกในไทย ต้นปี 2563 แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเดินทางกลับประเทศเพราะกลัวติดเชื้อ จากนั้นไทยประกาศปิดด่านชายแดนทั่วประเทศ และยกเลิกการนำเข้าแรงงานตาม MOU ทุกประเภท เนื่องจากต้องการควบคุมสถานการณ์โควิด เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้แรงงานต่างด้าวเห็นเป็นสัญญาณที่ดีในการมาหางานทำ บวกกับนายจ้างเองก็ติดต่อไปหาลูกน้องเก่า ๆ ว่าจำเป็นต้องใช้แรงงาน จึงเกิดการลักลอบเข้าประเทศผ่านทางชายแดนธรรมชาติจำนวนมาก เพราะด่านภาคพื้นดินยังปิด

“มีคนถามผมว่าทำไมเพิ่งมาประกาศเรื่อง MOU ภายใต้สถานการณ์โควิด จริง ๆ แล้วกระทรวงแรงงานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.), กระทรวงการต่างประเทศ (กต.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มา 2 เดือนแล้ว เรื่องขั้นตอน กระบวนการป้องกันโควิด การกักตัว เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบคนไทย”

จัดวัคซีน 5 แสนโดส ฉีดฟรี

ตอนนี้ได้ขั้นตอนชัดเจนแล้ว จึงรีบประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบว่ามี MOU ให้นำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ผู้ประกอบการจะได้ประสานงานกับบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (บนจ.) ให้หาแรงงาน นอกจากนี้ ได้เตรียมวัคซีนไว้ 4-5 แสนโดส เพื่อฉีดให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมในวันสุดท้ายของการกักตัว โดยนายจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ขอให้นายจ้างช่วยรับผิดชอบค่าที่กักตัววันละ 500-1,000 บาทต่อคน โดยแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีนยังไม่ครบต้องกักตัว 14 วัน รวมทั้งค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ค่ารักษากรณีติดเชื้อ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารวม 9,700-26,720 บาท

เคาะยอดนำเข้าหลัง 30 พ.ย.

ส่วนจะนำเข้าแรงงานชาติละกี่คนนั้นขณะนี้ยังไม่ได้เคาะ รอให้นายจ้างยื่นความต้องการเข้ามาก่อน แล้วค่อยสรุปตัวเลข จริง ๆ แล้วไม่จำกัดจำนวน เพราะถ้าแรงงานและนายจ้างพร้อมทำตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ก็สามารถขอเข้ามาตามระบบ MOU ได้ จะดำเนินงานหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 28 ก.ย. 2564 ที่อนุญาตให้ต่างด้าวกลุ่มที่อยู่ในไทยอยู่ต่อเป็นกรณีพิเศษ ด้วยการเก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง สิ้นสุด 30 พ.ย. 2564 จากนั้นจะพร้อมเดินหน้า MOU ต่อทันที

ชี้ลอตแรก 4.2 แสนคน

แหล่งข่าวจากกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า การนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU ลอตแรกหลัง ศบค.ให้ความเห็นชอบแนวทางการนำเข้าตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ยอดการนำเข้าจะเป็นไปตามผลสำรวจความต้องการจ้างงานแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ เมื่อเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งพบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการมีความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งสิ้น 424,703 คน แบ่งเป็น แรงงานสัญชาติเมียนมา 256,029 คน กัมพูชา 130,138 คน และ สปป.ลาว 38,536 คน

นายหน้าเกลี่ยค่าหัว 2 พัน/ราย

ด้านนายสุชิน พึ่งประเสริฐ ประธานบริหาร บนจ.กรุ๊ปเซเว่นเซอร์วิส และนายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า การเปิดนำเข้าแรงงานแบบ MOU เป็นนโยบายที่ดี เพราะมีนายจ้างต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก จะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ตอนนี้เริ่มมีนายจ้างติดต่อหาแรงงานมาแล้ว แต่บริษัทนำเข้าแรงงานมีมากถึง 200 ราย แบ่งเป็นบริษัท subcontract กว่า 170 ราย จึงเฉลี่ยรับออร์เดอร์กันไป ในส่วนของกรุ๊ปเซเว่นเซอร์วิสลงทุนเอง ไม่เก็บค่าหัวจากฝั่งนายจ้าง แต่จะได้ส่วนต่างจากเอเย่นต์จากทั้ง 3 ประเทศ รายละประมาณ 2,000 บาทต่อแรงงาน 1 คน เป็นค่าบริการทำเอกสาร และการเดินทางไปประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ

รัฐส่งซิกนำเข้าแรงงานได้ไม่อั้น

“ผมพร้อมที่จะนำแรงงานเข้ามาในประเทศไทยในระบบ MOU ทั้ง 3 สัญชาติ แต่กระบวนการต้องใช้เวลาพอสมควร ตั้งแต่แจ้งดีมานด์ไปยังกรมการจัดหางาน (กกจ.) จากนั้นติดต่อไปที่สถานทูตแต่ละประเทศ นัดเซ็นเอกสาร ทำวีซ่า และรอทำสัญญา ฯลฯ การนำเข้าแรงงานเมียนมาใช้เวลา 2-4 เดือน เพราะมีหลายชนเผ่า และปกครองโดยทหาร แต่แรงงานกัมพูชาและ สปป.ลาว ใช้เวลาประมาณ 45 วัน บริษัทผมเลือกจ้างแรงงานกลุ่มรีเทิร์นมากกว่า เพราะมีประวัติอยู่แล้ว ใช้เวลาดำเนินงานน้อยกว่า”

ขณะนี้ได้สร้างที่กักตัวที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เตรียมพร้อมไว้ 50 เตียง เป็นการบริการแบบครบวงจร คิดค่าบริการ 650 บาท/วัน รวมทุกอย่าง ทั้งอาหาร การแพทย์ ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานต่างด้าวที่ทางกระทรวงแรงงานสำรวจมี 4.2 แสนคน แต่จริง ๆ แล้วมากกว่านั้น และกระทรวงให้นำเข้ามาได้เรื่อย ๆ ตาม MOU

แรงงานอาหารวูบ 7 หมื่น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (PFC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงปี 2563 จากปัญหาโควิดทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารเหลือเพียง 639,606 คน ลดลง 74,691 คน จากปี 2562 มีแรงงาน 714,297 คน จึงต้องการแรงงานมากขึ้น หลังคำสั่งซื้อจากลูกค้าเริ่มกลับมา บางสินค้าออร์เดอร์เพิ่มขึ้น 50% จากก่อนมีโควิด แต่แรงงานจำนวนหนึ่งเดินทางกลับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ จึงเห็นด้วยกับการเปิดนำเข้าแรงงาน MOU

ยอมรับว่าต้นทุนการนำเข้าแรงงาน MOU ถูกกฎหมายช่วงโควิด จะต้องปรับเพิ่มขึ้นจากก่อนมีโควิด เพราะต้องตรวจสอบโรค กักตัว 7 วัน หรือ 14 วัน มีค่าอาหาร ที่พัก และค่าประกันต่าง ๆ เพิ่มจากปกติ ต้นทุนนำเข้าแรงงานเดิมประมาณ 10,000 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 20,000 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม หวังว่ารัฐบาลจะช่วยลดค่าใช้จ่ายบางด้านลงให้ เช่น ค่าประกัน หรือค่าธรรมเนียมนำเข้า เป็นต้น จะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ

แก้ปมค้ามนุษย์ก่อนสหรัฐลงดาบ

“หากต้นทุนนำเข้าแรงงานสูงระดับนี้กว่าจะคุ้มทุนการผลิตคงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก อาจใช้เวลา 2 ปีกว่าจะคุ้มทุน ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรให้แรงงานอยู่กับบริษัทได้นาน 2 ปี จนถึงจุดคุ้มทุน เพราะที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวชอบเปลี่ยนงาน ที่สำคัญ ต้นทุนนำเข้าส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วย ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงปรับตัวลดต้นทุนใช้แรงงาน หันไปใช้ระบบอัตโนมัติ”

ขณะเดียวกัน เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานำเข้าแรงงานต่างด้าวเถื่อนโดยเร็วที่สุด เพราะจากนี้ไปจนถึงต้นปีน่าจะเป็นช่วงเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2022 โดยคู่ค้าสหรัฐ (TIP Report) ซึ่งปกติจะประกาศช่วงกลางปี ส่วนตัวมองว่าสถิติการจับกุมคดีการค้ามนุษย์ รวมถึงการจับกุมต้นตอการค้ามนุษย์จะส่งผลดีต่อประเทศไทย จากปี 2021 ไทยถูกจัดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ลดระดับจาก Tier 2 จากปีก่อน

แรงงานประมงขาด 5 หมื่น

ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์โควิดซ้ำเติมปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะขาดแคลนแรงงานประมง คนบนเรือ ในภาคประมงกว่า 50,000 คน ที่รัฐต้องแก้ให้ได้คือต้องมองแรงงานต่างด้าวเป็นพี่น้อง เป็นแรงงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่ปัญหาการตกงานของแรงงานไทย รัฐต้องดูว่ามีกลุ่มอาชีพใดบ้าง จากนั้นบริหารจัดการให้คนไทยมีงานทำ อาจต้องสร้างแพลตฟอร์มจัดหางาน ต้องสำรวจว่ากิจการใดบ้างที่ขาดแคลนแรงงานในทุก ๆ จังหวัด จัดทำข้อมูลให้เชื่อมโยงกันทั้งระบบ เช่นเดียวกับปัญหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

“การใช้ระบบการนำเข้าแบบ MOU อย่างเดียวอาจมีปัญหา ขั้นตอน วิธีการ ค่าใช้จ่าย ใช้เวลานาน และแรงงานต่างด้าวต้องการเข้ามาหางานทำจำนวนมาก จึงเสนอให้นำ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว 2560 มาตรา 14 มาใช้ เปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสบริเวณด่านชายแดน 4-5 แห่ง คัดกรองแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ อย่ามองเป็นผู้สร้างปัญหาให้รัฐ เมื่อเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการแก้ไขปัญหาจะเปลี่ยนไป รัฐไม่ต้องมาไล่จับแรงงานต่างด้าวอีกต่อไป ไม่ต้องมีนายหน้า ไม่มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ก็จะไม่เกิดขึ้น”

 

ที่มา:https://www.prachachat.net/csr-hr/news-801694